วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา

บทความเรื่องสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้

ความกังวลและห่วงใยในเรื่องอิทธิพลของสื่อมวลชนต่อความคิดจิตใจ และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งต่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมมีมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อประเภทอิเล็กทรอนิกส์ อันได้แก่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอิทธิพลของสื่อมวลชนต่อเด็กและเยาวชน แต่นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการพัฒนาเด็กและเยาวชนก็ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐปรับเปลี่ยนมาอยู่ในกระแสพาณิชย์นิยมสอดรับกับสภาพสื่อมวลชนโดยรวมที่ได้กลายเป็นสื่อเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น ก็ยิ่งทำให้ปัญหาเรื่องอิทธิพล และผลกระทบของสื่อมวลชนที่มีต่อเด็กและเยาวชนสะสมทบทวี โดยปราศจากหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ความสำคัญของเรื่องสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ มีที่มาจากการมองสภาพของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า ไม่ว่าจะเป็นบุคคลวัยใด เพศใด หรืออยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมใดล้วนเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของสังคมไทยทั้งสิ้น และพึงได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ และตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ในเรื่องการพัฒนาตนเอง การศึกษา การแสดงความคิดเห็น การประกอบอาชีพ การรักษาศิลปวัฒนธรรม และความเป็นชุมชน ส่วนเรื่องสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีกในปัจจุบันจากสภาพการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งไปในเรื่องการแข่งขัน การมีค่านิยมทางวัตถุ ความฟุ่มเฟือย ที่นำไปสู่การแสวงหาโภคทรัพย์อย่างผิด ๆ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเยาวชนไปจนเป็นผู้ใหญ่ การใช้ความรุนแรงต่อกันในการแก้ปัญหาปรากฎอย่างเห็นได้ชัดในระยะไม่กี่ปีมานี้ โดยเป็นการกระทำของผู้ใหญ่ต่อเด็กและเยาวชน เช่น ครูทำร้าย และล่วงละเมิดทางเพศศิษย์ หรือพระที่เสพสื่อลามก และฉ้อโกงชาวบ้าน หรือกรณีการใช้ความรุนแรงของเยาวชนในการแก้ปัญหาความรักหรือปัญหาการเรียน หรือการตีกันระหว่างนักศึกษาต่างสถาบัน ตัวอย่างของปัญหาที่ยกมานี้ เป็นเพียงส่วนบนของวิกฤตปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเมืองที่สร้างแรงกดดันและความเครียดแก่บุคคลและสถาบันต่าง ๆ โดยไม่มีความพยายามในการศึกษาวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างจริงจังโครงการสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ได้เล็งเห็นว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญทั้งด้านบวกและด้านลบต่อสังคมและวัฒนธรรม หากสามารถนำศักยภาพในทางสร้างสรรค์มาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการศึกษาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องต่อการพัฒนาคนและสังคมอย่างยิ่ง

อิทธิพลและผลกระทบของสื่อมวลชนต่อเด็กและเยาวชนสื่อมวลชนเป็นสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลและผลกระทบต่อสังคมอย่างมากจะเห็นได้ว่า ทัศนคติและความเชื่อในเรื่องอิทธิพลและผลกระทบของสื่อมีที่มาจากความเชื่อและการรับรู้ของสังคม และจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากการทำงานของสื่อมวลชน รวมทั้งการค้นพบจากการศึกษาวิจัยในช่วงหลังๆ ที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับผลกระทบของสื่อไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรง แต่หากมีปัจจัยอื่นๆ แทรกอยู่ระหว่างสองตัวแปรนี้เสมอทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลในหลายด้านทั้งในเชิงสร้างสรรค์และในทางลบ โดยมีอิทธิพลและผลกระทบต่อความคิดจิตใจ ต่อพฤติกรรมทางภาษา สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจการเมืองของบุคคลและกลุ่มบุคคล

( จากประเด็นของกลุ่มที่ 4 ผลกระทบด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับสื่อมวลชนเพื่อการศึกษา )